วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2554

“ดี้” เปิด “สหภาพดนตรี” ท้าชนแกรมมี่ ลั่น เปิดกว้างไม่มีแบ่งแยกค่าย

หลังจาก “ดี้ นิติพงษ์ ห่อนาค” ประกาศแยกทางกับค่ายต้นสังกัดอย่างแกรมมี่ เจ้าตัวก็ได้ชักชวนเพื่อนสนิทอย่าง “ป้อม อัสนี โชติกุล, โอม ชาตรี คงสุวรรณ” รวมไปถึง “จุ๊บ วุฒินันท์ ภิรมย์ภักดี” เปิดบริษัทเป็นของตัวเองในนาม “สหภาพดนตรี” จำกัด โดยทำการแถลงข่าวเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ไปเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ที่ผ่านมา ณ ร้านเมลโล เยลโล แจ๊ซ แอนด์ มอร์(RCA)
     
โดยงานนี้ “ดี้ นิติพงษ์” ประกาศชัดเจนบนเวทีว่าพร้อมเป็นคู่แข่งกับบ้านเก่าอย่างแกรมมี่แน่นอน แต่เพราะทุกธุรกิจย่อมมีเรื่องของการแข่งขันเป็นเรื่องปกติ และตนก็ได้มีการพูดคุยกับบอสเก่า “อากู๋ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม” เป็นที่เรียบร้อยไม่มีปัญหา และยังสามารถร่วมงานกันได้เสมอ ซึ่งพอเสร็จงานทั้ง “ดี้-ป้อม-โอม” ก็เผยถึงแนวทางของบริษัทนี้ว่า
     
ดี้ : “นิยามของสหภาพดนตรีก็ง่ายๆ คือการรวมตัวของนักดนตรี ก็ไม่มีใครชวนใครก่อนนะ ชวนพร้อมกัน เป็นปรากฏการณ์ที่แปลกมาก แล้วคือเราร่วมงานได้กับทุกค่าย ทางอาร์เอสและแกรมมี่ก็มีส่งศิลปินมาร่วมงานกับเรานะ วันก่อนก็เพิ่งได้คุยกัน ยังไปทานข้าวกับอากู๋อยู่เลย และทางเฮียฮ้อ(สุรชัย เชษฐ์โชติศักดิ์) ก็ส่งกระเช้าดอกไม้มา นี่คือคนไทย แข่งขันกันได้ แต่ไม่ได้มีอะไรที่มันจะต้องมากไปกว่านั้น”
     
“ส่วนศิลปินที่จะเข้ามาก็คงต้องมีเซ็นสัญญา แต่ว่าไม่ได้เป็นการผูกมัดอะไรกันมากนัก เอาแค่พอทำธุรกรรมได้เท่านั้นเอง ส่วนอื่นๆ ในรายละเอียดเรากำลังคุยกันอยู่ แนวเพลงเราก็หลากหลายหมด มีได้เท่าที่นึกออกครับ เราไม่ได้บอกว่าแบบโน้นไม่ดี แบบนี้ไม่ดี เราทำได้ทุกอย่าง เพียงแต่เราอาจจะเห็นว่ามุมนี้ยังไม่มีในตลาดหรือในสังคมในแวดวง เราก็อาจจะทำขึ้นมาเพื่อให้มันมีสีสันแปลกๆ ออกไปบ้างเท่านั้นเอง”
     
“ซึ่งศิลปินเบอร์แรกของเราก็คือพี่ป้อมนี่เอง คือเป็นเบอร์แรกตั้งนานแล้ว ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท จริงๆ แล้วเราต่างเป็นอิสระซึ่งกันและกันทั้งหมด การรวมตัวนี่ไม่ใช่เพื่อจะมาผูกขาซึ่งกันและกันแล้ววิ่งไปให้มันหกล้ม คือทุกคนมีอิสระในการคิดงานและทำงาน และจะมีการช่วยเหลือกันแบบไม่ต้องลังเล และมีการร่วมมือกันทำในโปรเจ็กต์ใหญ่ๆ เรื่อยๆ แต่ทุกคนก็มีแนวทางของตัวเอง”
     
“ซึ่งโปรเจ็กต์แรกที่เราจะทำก็คือมีนักร้องทั้งหมด 36 ชีวิตจากทุกค่ายที่สะดวกมาร่วมกันทำอัลบั้ม ทองผืนเดียวกัน ซึ่งเพลงแรกจะเป็นเพลง ขอเป็นข้ารองบาททุกชาติไป ที่พี่ป้อมได้ร้องไว้กับพี่โต๊ะ(วสันต์ โชติกุล) รายได้มอบถวายหมด เพื่อที่จะไม่มีอะไรคลางแคลง ชัดเจน ทำเพื่อถวายให้กับในหลวงของเรา ของชาวไทยในปีนี้ โดยคิดว่าเป็นเรื่องของการถวายความสามัคคีให้กับพระองค์ท่านในปีใหญ่ปีนี้ ก็มาร่วมกันหมดเลยน่าชื่นใจมาก ทุกอย่างก็ถวายท่านหมด”
     
ด้าน “โอม ชาตรี” และ “ป้อม อัสนี” เผยว่าจุดประสงค์แรกที่ก่อตั้งบริษัทก็เพื่อต้องการหานักดนตรีรุ่นใหม่ให้ ก้าวเข้ามาในวงการเพลง และไม่ได้ตั้งใจจะดึงศิลปินจากค่ายไหนทั้งสิ้น แต่ถ้าคนไหนที่สนใจอยากร่วมงานด้วยตนก็ยินดี
     
อัสนี : “สำหรับหน้าที่ของแต่ละคน ผมคงทำดนตรีนะครับ เพราะเราทำเป็นอย่างเดียวคือดนตรี อย่างแรกเราก็คงทำงานเกี่ยวกับด้านสังคมของทางสิงห์ คอปอเรชั่น ส่งเสริมกิจกรรมทางด้านดนตรีของเยาวชนไทย หรือผู้ที่ด้อยโอกาส ทางสิงห์ คอร์เปอเรชั่นก็ยินดีส่งเสริมและสนับสนุน อันดับที่สองก็คงเป็นเรื่องการผลิต ซึ่งก็คงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องมีการทำเพลงใหม่ ก็คงเป็นสองหลักใหญ่ๆ ครับ”
     
โอม : “ถ้าถามว่าต่างจากค่ายเพลงเดิมยังไง คือตรงนี้มันเป็นอีกมิติหนึ่งเลยในการทำเพลง ซึ่งทุกคนก็มีประสบการณ์ มีมุมมองต่างๆ อยู่แล้ว ในเบื้องต้นก็คงเป็นการรวมตัวของพวกเรา และคงชวนทุกๆ คนที่เป็นนักดนตรีที่มีความสามารถมาร่วมงานกัน และตัวงานก็คงพัฒนามาจากจุดเริ่มต้นที่มีความแตกต่าง แต่อย่าเรียกว่าดึงศิลปินมาเลย ผมว่าเรามาร่วมงานกัน ทุกคนก็มีน้องๆ เพื่อนๆ พี่ๆ ที่ร่วมงานกันมา และใครที่อยากมาร่วมงานกับเรา เราก็เปิดอิสระให้ทั้งหมดเลย และการทำงานของเรา ความอิสระคือจุดแรกที่เรามีตั้งแต่เริ่มต้น ฉะนั้นคนที่เราเห็นเรารวมตัวกันและมีอิสระในความคิด เขาก็คงจะสนใจที่จะมาร่วมงานกับเรา ก็อาจจะไม่ต้องดึงกัน มันไม่ใช่การดึงเลย”
     
ทางด้านของ “จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี” หนึ่งในผู้บริหารของบริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด เผยว่าไม่ได้ตั้งใจแข่งกับค่ายไหน และยอมรับว่าธุรกิจนี้ก็ยังหวังเรื่องผลกำไรที่ดี แต่เชื่อเป็นอีกทางเลือกที่ดีของวงการดนตรีเมืองไทย
     
“ถ้าถามผมว่าแข่งกับค่ายอื่นไหม ผมคิดว่าวัตถุประสงค์ของเราไม่ได้จะไปแข่งขันกับค่ายอื่นนะครับ จริงๆ วัตถุประสงค์ของเราคือต้องการเปิดโอกาสในการให้โอกาสกับศิลปินรุ่นใหม่เข้า มา ให้เราได้เป็นเวทีแจ้งเกิด และทางเราก็คิดว่าเราสามารถเปิดมิติใหม่ในวงการดนตรีของประเทศ ในการที่สามารถข้ามค่ายทำธุรกิจร่วมเพลง ร่วมศิลปินกันไปก็ถือเป็นมิติใหม่ และของบริษัทบุญรอดเองเราให้ความสำคัญกับธุรกิจที่เป็น Non Alcohol เราก็คิดว่าจุดนี้เป็นโอกาสที่ดีที่เรามีตำนานอย่างทั้ง 3 ท่านเข้ามา โดยที่ทุกๆ คนเรียกว่าเงินทองคงไม่ใช่ประเด็นสำคัญแล้ว แต่ต้องการจะโชว์ผลงาน โชว์ฝีมือและทิ้งอะไรไว้สำหรับคนรุ่นใหม่ๆ ครับ”
     
“เรื่องคอนเสิร์ตก็มีอยู่ในโครงการนะครับ เราเปิดกว้างมาก แน่นอนความสามารถเฉพาะตัวของทั้ง 3-4 ศิลปินนี้ก็คงจะเห็นภาพลักษณ์ที่ชัดเจน แต่เราก็เปิดไว้ค่อนข้างกว้าง ฉะนั้นอะไรที่เราสามารถพัฒนาไปได้ก็คงจะทำ ถามว่าคาดหวังแค่ไหน อย่างที่บอกว่านี่เป็นตุ๊กตาตัวใหม่ หลายๆ คนช่วงแรกอาจจะยังไม่เข้าใจ คิดว่าเปิดขึ้นมาเป็นอีกค่ายหนึ่งเพื่อจะมาแข่งขันกับค่ายเดิมหรือเปล่า ก็ได้ตอบไปแล้วว่าไม่ใช่ แต่เป็นการรวมตัวศิลปินจริงๆ เป็นการเปิดโอกาสค่อนข้างกว้างเลย”
     
“แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็อยู่บนพื้นฐานของการทำธุรกิจ แน่นอนไม่ใช่อะไรที่จะทำแบบไม่มีกำไร แต่ในทั้งนี้ทั้งนั้นเราเปิดโอกาสให้ศิลปินประสบความสำเร็จอย่างสูงส่งมา แล้วในต่างประเทศทั้ง 3-4 ท่านนี้ และทำยังไงให้เขาสามารถทำในสิ่งที่ฝันอยากจะทำภายใต้ความอิสระของศิลปิน ซึ่งภายใต้แนวความคิดนี้ก็น่าจะเป็นอะไรที่ลงตัวของทั้งทางบริษัทและทาง ศิลปิน”








ที่มา ASTV

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น